วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

"ความรัก" คือ "ทุนทางสังคม"

การขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อให้ประชาชนโดยรวมได้มีการกินดีอยู่ดีและมีความสุขนั้น ปัจจัยที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนนี้คือ "ความรัก" ผู้ปกครองควรบริหารบ้านเมืองหรือปกครองประชาชนด้วยความรัก ประชาชนก็ควรดำเนินชีวิตด้วยความรักที่มีต่อกัน หากเปรียบไปแล้ว ความรักก็คือ "ทุนทางสังคม" (social capital) ที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ และไม่มีวันหมด ความรักเป็นทุนทางสังคมที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น กำลังใจ ความปราถนาดี ความคิดถึงห่วงใย ตลอดจนความปรองดองร่วมมือกัน ทำให้สังคมมีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (economic rewards) ซึ่งสามารถวัดได้ทั้งผลได้ทางสังคมและผลได้ทางเศรษฐกิจ

สังคมที่มีความรักเป็นทุนนั้นจะเห็นได้ว่าประชาชนมีความกลมเกลียว ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ตลอดเวลา เอาใจใส่ดูแลกันในยามที่เพื่อนบ้านต้องการความช่วยเหลือ เป็นสังคมที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทุกคนสามารถนอนหลับพักผ่อนได้สนิท พักผ่อนได้เต็มที่ ได้ผ่อนคลาย ไม่เครียด มีความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว ตลอดจนมีบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคนในชุมชน ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในช่วงปลายปี 2552 คนไทยมีความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมากที่สุดคือ มีค่าความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 8.96 เมื่อค่าความสุขเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ สุขภาพใจอยู่ที่ 7.96 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.72 และผลการพยากรณ์ทางสถิติค่าดัชนีความสุขมวลรวม (GDH) ตลอดช่วงไตรมาสต่างๆ ในปีใหม่ 2553 พบว่า ถ้าไม่มีปัจจัยลบร้ายแรง หรือไม่มีปัจจัยบวกเป็นพิเศษแทรกซ้อนใดๆ คือ หากสังคมไทยอยู่ในสภาวะปกติ ค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 6.87 ในไตรมาสแรก ส่วนในไตรมาสที่สอง ค่าความสุขของคนไทยจะอยู่ที่ 6.97 และอยู่ที่ 6.62 ในไตรมาสที่สาม ส่วนช่วงปลายปีหน้าค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 7.86 จากค่าความสุขเต็มที่ 10

แต่หากเรามองอีกมุมหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับความรัก นั่นคือ "ความเกลียดชัง" ซึ่งความเกลียดชังนี้ก็คือ "ต้นทุนทางสังคม" (social cost) ที่เป็นภาระหนักที่สังคมต้องแบกรับเอาไว้ และมีผลโดยตรงต่อสังคมโดยรวมในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะในรูปของการจี้ปล้น การฆาตกรรม ยาเสพติด การกดขี่ข่มเหงกัน หรือแม้กระทั่งความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอันเกิดจากปัญหาทางการเมืองที่ปัจจุบันมีการแบ่งแยก "สีทางการเมือง" อย่างชัดเจน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองสูงถึง 5.58 หลังจากที่เคยค้นพบความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองเคยตกต่ำเลวร้าย เหลือประมาณ 2.00 ในการวิจัยช่วงวิกฤติความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาค่าความสุขมวลรวมของประชาชน ช่วงปลายปี 2552 พบว่า อยู่ที่ 7.26 ในทางสถิติถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี กล่าวได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความสุขในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงความสุขต้นเดือน ธ.ค.พบว่า ค่าความสุขของประชาชนลดลงจาก 9.86 มาอยู่ที่ 7.26


ดังนั้น ในเดือนแห่งความรักนี้ หากเราพยายามทำให้ความรักแสดงอนุภาพได้ทั้งเดือน ก็จะทำให้ดัชนี้ความสุขของคนไทยเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย โดยเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น มอบของขวัญให้กันและกัน ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทำบุญทำทานแก่ผู้ยากไร้ รักใคร่สามัครคีกัน สร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดี คิดถึงความสุขของประชาชนโดยรวมให้มากกว่าความสุขของคนใดคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นอาจไม่ได้ส่งผลกลับมาถึงตัวคุณโดยตรง แต่ประโยชน์ก็จะตกไปสู่คนในสังคมอย่างแน่นอน ขอให้เราใช้ "ทุนทางสังคม" ที่มีอยู่นี้ให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุด อย่าพยายามสร้าง "ต้นทุนทางสังคม" ให้เป็นภาระในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าเลย หากจะเปรียบเทียบไปแล้ว ก็คงพูดได้ว่า

องค์กรธุรกิจใช้เงินเป็นทุนในการขับเคลื่อนฉันใด
สังคมก็ใช้ความรักเป็นทุนในการขับเคลื่อนฉันนั้น