
สังคมที่มีความรักเป็นทุนนั้นจะเห็นได้ว่าประชาชนมีความกลมเกลียว ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ตลอดเวลา เอาใจใส่ดูแลกันในยามที่เพื่อนบ้านต้องการความช่วยเหลือ เป็นสังคมที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทุกคนสามารถนอนหลับพักผ่อนได้สนิท พักผ่อนได้เต็มที่ ได้ผ่อนคลาย ไม่เครียด มีความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว ตลอดจนมีบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคนในชุมชน ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในช่วงปลายปี 2552 คนไทยมีความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมากที่สุดคือ มีค่าความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 8.96 เมื่อค่าความสุขเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ สุขภาพใจอยู่ที่ 7.96 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.72 และผลการพยากรณ์ทางสถิติค่าดัชนีความสุขมวลรวม (GDH) ตลอดช่วงไตรมาสต่างๆ ในปีใหม่ 2553 พบว่า ถ้าไม่มีปัจจัยลบร้ายแรง หรือไม่มีปัจจัยบวกเป็นพิเศษแทรกซ้อนใดๆ คือ หากสังคมไทยอยู่ในสภาวะปกติ ค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 6.87 ในไตรมาสแรก ส่วนในไตรมาสที่สอง ค่าความสุขของคนไทยจะอยู่ที่ 6.97 และอยู่ที่ 6.62 ในไตรมาสที่สาม ส่วนช่วงปลายปีหน้าค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 7.86 จากค่าความสุขเต็มที่ 10

ดังนั้น ในเดือนแห่งความรักนี้ หากเราพยายามทำให้ความรักแสดงอนุภาพได้ทั้งเดือน ก็จะทำให้ดัชนี้ความสุขของคนไทยเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย โดยเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น มอบของขวัญให้กันและกัน ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทำบุญทำทานแก่ผู้ยากไร้ รักใคร่สามัครคีกัน สร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดี คิดถึงความสุขของประชาชนโดยรวมให้มากกว่าความสุขของคนใดคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นอาจไม่ได้ส่งผลกลับมาถึงตัวคุณโดยตรง แต่ประโยชน์ก็จะตกไปสู่คนในสังคมอย่างแน่นอน ขอให้เราใช้ "ทุนทางสังคม" ที่มีอยู่นี้ให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุด อย่าพยายามสร้าง "ต้นทุนทางสังคม" ให้เป็นภาระในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าเลย หากจะเปรียบเทียบไปแล้ว ก็คงพูดได้ว่า
องค์กรธุรกิจใช้เงินเป็นทุนในการขับเคลื่อนฉันใด
สังคมก็ใช้ความรักเป็นทุนในการขับเคลื่อนฉันนั้น
