วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

"ความรัก" คือ "ทุนทางสังคม"

การขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อให้ประชาชนโดยรวมได้มีการกินดีอยู่ดีและมีความสุขนั้น ปัจจัยที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนนี้คือ "ความรัก" ผู้ปกครองควรบริหารบ้านเมืองหรือปกครองประชาชนด้วยความรัก ประชาชนก็ควรดำเนินชีวิตด้วยความรักที่มีต่อกัน หากเปรียบไปแล้ว ความรักก็คือ "ทุนทางสังคม" (social capital) ที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ และไม่มีวันหมด ความรักเป็นทุนทางสังคมที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น กำลังใจ ความปราถนาดี ความคิดถึงห่วงใย ตลอดจนความปรองดองร่วมมือกัน ทำให้สังคมมีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (economic rewards) ซึ่งสามารถวัดได้ทั้งผลได้ทางสังคมและผลได้ทางเศรษฐกิจ

สังคมที่มีความรักเป็นทุนนั้นจะเห็นได้ว่าประชาชนมีความกลมเกลียว ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ตลอดเวลา เอาใจใส่ดูแลกันในยามที่เพื่อนบ้านต้องการความช่วยเหลือ เป็นสังคมที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทุกคนสามารถนอนหลับพักผ่อนได้สนิท พักผ่อนได้เต็มที่ ได้ผ่อนคลาย ไม่เครียด มีความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว ตลอดจนมีบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคนในชุมชน ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในช่วงปลายปี 2552 คนไทยมีความสุขต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมากที่สุดคือ มีค่าความสุขเฉลี่ยอยู่ที่ 8.96 เมื่อค่าความสุขเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ สุขภาพใจอยู่ที่ 7.96 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.72 และผลการพยากรณ์ทางสถิติค่าดัชนีความสุขมวลรวม (GDH) ตลอดช่วงไตรมาสต่างๆ ในปีใหม่ 2553 พบว่า ถ้าไม่มีปัจจัยลบร้ายแรง หรือไม่มีปัจจัยบวกเป็นพิเศษแทรกซ้อนใดๆ คือ หากสังคมไทยอยู่ในสภาวะปกติ ค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 6.87 ในไตรมาสแรก ส่วนในไตรมาสที่สอง ค่าความสุขของคนไทยจะอยู่ที่ 6.97 และอยู่ที่ 6.62 ในไตรมาสที่สาม ส่วนช่วงปลายปีหน้าค่าความสุขมวลรวมของคนไทยจะอยู่ที่ 7.86 จากค่าความสุขเต็มที่ 10

แต่หากเรามองอีกมุมหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับความรัก นั่นคือ "ความเกลียดชัง" ซึ่งความเกลียดชังนี้ก็คือ "ต้นทุนทางสังคม" (social cost) ที่เป็นภาระหนักที่สังคมต้องแบกรับเอาไว้ และมีผลโดยตรงต่อสังคมโดยรวมในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะในรูปของการจี้ปล้น การฆาตกรรม ยาเสพติด การกดขี่ข่มเหงกัน หรือแม้กระทั่งความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอันเกิดจากปัญหาทางการเมืองที่ปัจจุบันมีการแบ่งแยก "สีทางการเมือง" อย่างชัดเจน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองสูงถึง 5.58 หลังจากที่เคยค้นพบความสุขของประชาชนต่อบรรยากาศทางการเมืองเคยตกต่ำเลวร้าย เหลือประมาณ 2.00 ในการวิจัยช่วงวิกฤติความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาค่าความสุขมวลรวมของประชาชน ช่วงปลายปี 2552 พบว่า อยู่ที่ 7.26 ในทางสถิติถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี กล่าวได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความสุขในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงความสุขต้นเดือน ธ.ค.พบว่า ค่าความสุขของประชาชนลดลงจาก 9.86 มาอยู่ที่ 7.26


ดังนั้น ในเดือนแห่งความรักนี้ หากเราพยายามทำให้ความรักแสดงอนุภาพได้ทั้งเดือน ก็จะทำให้ดัชนี้ความสุขของคนไทยเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย โดยเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น มอบของขวัญให้กันและกัน ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทำบุญทำทานแก่ผู้ยากไร้ รักใคร่สามัครคีกัน สร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดี คิดถึงความสุขของประชาชนโดยรวมให้มากกว่าความสุขของคนใดคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นอาจไม่ได้ส่งผลกลับมาถึงตัวคุณโดยตรง แต่ประโยชน์ก็จะตกไปสู่คนในสังคมอย่างแน่นอน ขอให้เราใช้ "ทุนทางสังคม" ที่มีอยู่นี้ให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุด อย่าพยายามสร้าง "ต้นทุนทางสังคม" ให้เป็นภาระในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าเลย หากจะเปรียบเทียบไปแล้ว ก็คงพูดได้ว่า

องค์กรธุรกิจใช้เงินเป็นทุนในการขับเคลื่อนฉันใด
สังคมก็ใช้ความรักเป็นทุนในการขับเคลื่อนฉันนั้น


วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

อุปทานสร้างอุปสงค์ กับ หวยออนไลน์

ก็น่าเห็นใจบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จีเทคฯ ที่ต้องถูกระงับโครงการหวยออนไลน์จากรัฐบาล เหมือนคนกำลังท้องไกล้จะคลอดแต่ดันมาแท้งเสียก่อน เป็นใครก็เซ็ง และคนที่น่าจะเซ็งกว่าก็เห็นจะเป็นผู้ค้าหวยรายย่อยที่ซื้อตู้หวยไปแล้วหลายพันตู้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จีเทคฯ และพ่อค้าหวยไฮเทคนั้นคงไม่ต้องพูดถึง กินน้ำใบบัวบกจนอืดก็ไม่หายช้ำ มิหนำซ้ำบรรดาผู้ที่ฝากชีวิตและความหวังไว้กับหวยก็ต้องถึงกับคอตกกันไปเป็นทิวแถว

แต่พอมองในแง่มุมของรัฐบาลแล้ว ผมกลับเห็นด้วยที่ต้องแตะเบรกเรื่องนี้ก่อน เพราะจากการทำการศึกษาพบว่าวัยรุ่นและประชาชนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเล่นหวยเพิ่มขึ้นหากมีบริการหวยออนไลน์ เพราะมีความสะดวกในการซื้อหา อีกทั้งราคาก็ไม่ได้สูงมากจนเกินไปนัก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือว่าคนจะเข้าถึงหวยได้ง่ายและเร็วขึ้นนั่นเอง

ลองหลับตานึกนะครับว่า ถ้าหากสองข้างทางที่เราเดินผ่านเต็มไปด้วยตู้หวยออนไลน์ จะเกิดอะไรขึ้น ผมว่าผมอาจจะเผลอใจลองซื้อหวยดูสักครั้งก็เป็นได้ มันไม่ต่างอะไรกับที่เวลาเราไปเจอคนขายนกขายปลาเยอะ ๆ แล้วเราเกิดอยากทำบุญขึ้นมา เลยซื้อนกซื้อปลาไปปล่อย (ตกลงเรากำลังทำบุญ หรือส่งเสริมให้คนทำบาปกันแน่) หรือเดิน ๆ ไปเห็นขอทานเยอะแยะ เลยอยากให้เงินบ้างเพื่อความ สบายใจ (ตกลงเราให้เพราะอยากให้ หรือเพราะต้องให้) เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "อุปทานสร้างอุปสงค์" หมายความว่า ยังไง ๆ ขอทานก็มีเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่แล้ว (อุปทาน) การให้เงินเพื่อให้ได้รับความพอใจจึงเป็นเรื่องตามมาโดยธรรมชาติ (อุปสงค์) เช่นเดียวกันกับการที่มีตู้หวยออนไลน์เต็มไปหมดทุกที่ ทุกเวลา (อุปทาน) การซื้อหวยเพื่อเสี่ยงโชคจึงชอบด้วยประการทั้งปวง (อุปสงค์) ไม่ผิดกฏหมาย ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ

คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่หากคนจะหันมาเล่นหวยมากขึ้นเนื่องจากสะดวกและง่ายต่อการสร้างความร่ำรวย โดยมองข้ามเรื่องการมีงานทำ จริงอยู่ว่าการซื้อหวยนั้นก็ถือเป็นการใช้จ่ายหรือการบริโภคอย่างหนึ่ง แต่เป็นการบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างงาน และไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพ (productivity) ซึ่งจะนำผลเสียมาสู่ระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

การกระจายโอกาส กระจายรายได้นั้นต้องกระทำอย่างมีสติและมีวิจารณญาณ อย่าให้สถาณการณ์ "อุปทานสร้างอุปสงค์" มาทำให้สังคมต้องเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันถูกต้องแล้วเพราะเห็นใคร ๆ เขาก็ทำกัน...


ฌอง-แบบติสท์ เซย์ (Jean-Baptiste Say : 1767-1832)
พ่อค้าและนักคิดชาวฝรั่งเศสเจ้าของแนวคิด "อุปทานสร้างอุปสงค์" (Supply creates its own demand)

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ทวิลักษณ์ทางสังคม

ผมมีโอกาสได้เดินเล่นแถวหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้าม ระหว่างที่อยู่บนสะพานผมเห็นขอทานหลายคน บ้างก็สมบูรณ์ดี บ้างก็พิการ แต่จะอะไรก็ตาม ทุกคนล้วนกำลังเผชิญชะตากรรมอันเดียวกันคือ ลำบากยากจน ไม่มีเงิน หรืออาจถูกหลอกลวงมาก็เป็นได้

แรก ๆ ก็ไม่แปลกใจที่เห็นภาพเหล่านี้ เพราะเห็นมานานแล้ว แต่พอคิดดูอีกที คราวนี้เริ่มแปลกใจว่าทำไมภาพเหล่านี้ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยมา มิหนำซ้ำมันยังมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาเบาบางลง นั่นเป็นเพราะ ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนจนกับคนรวยมันห่างกันออกไปทุกที

เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ เมื่อเกิดการแบ่งแยกความเจริญในเขตเมืองและเขตชนบท ปัญหาที่ตามมาคือการทำงานต่ำกว่าระดับ (underemployment) ซึ่งเกิดขึ้นในเขตชนบท และปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น (unemployment) ในเขตเมือง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการกระจายรายได้และทรัพยากรการผลิตไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ตามมา กล่าวคือ ทรัพยากรและปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน แรงงาน ทุน ตลอดจนเทคโนโลยีและการศึกษาได้ถูกกระจายไปอย่างไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม ส่วนใหญ่จะถูกจัดสรรไปให้คนรวยที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่มีอำนาจซื้อ คนจนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศกลับต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีเงินทุน ไม่มีโอกาส และไม่มีอำนาจซื้อ ไม่ใช่ไม่มีอย่างเดียวแต่กำลังสูญเสียไปทุกขณะ เพราะช่องว่างของรายได้ และโอกาสกระเถิบห่างออกไปอยู่เรื่อย ๆ เหตุการณ์เช่นนี้เรียกว่าระบบเศรษฐกิจทวิลักษณะ (dualistic economy) และนำมาซึ่งรูปแบบทางสังคมที่แตกต่าง 2 ลักษณะ คือ แบบทันสมัย (modern) ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม และแบบเก่า (traditional) ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ตามสังคมเมืองไม่ค่อยทัน ด้อยโอกาสกว่า ด้อยกว่าในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งผมเรียกว่าเป็น "ทวิลักษณ์ทางสังคม"

มันทำให้ผมลองตั้งคำถามขึ้นเล่น ๆ ในใจว่า ถ้าผมมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผมจะมุ่งแก้ปัญหาความยากจนหรือมุ่งสร้างความร่ำรวยให้คนในประเทศ เพราะยุทธศาสตร์การสร้างความร่ำรวยกับยุทธศาสตร์การแก้ความยากจนนั้นแตกต่างกันอย่างมาก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวส วะสี เคยกล่าวไว้ในการประชุมเรื่อง "คนจนกับทางออกของสังคมไทย" ว่า
"ความรวยและความจนก็เหมือนกับความสุขและความทุกข์ ถึงจะเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน คือถ้าสุขมากก็ทุกข์น้อย ถ้าทุกข์มากก็สุขน้อย ก็จริง แต่ยุทธศาสตร์สร้างสุขกับยุทธศาสตร์แก้ทุกข์ มีความหมายต่างกันเยอะ พระพุทธศาสนาเลือกข้างแก้ทุกข์ แต่ฝรั่งเลือกข้างสร้างสุข หรือการพัฒนาแบบสร้างความร่ำรวย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย ยุทธศาสตร์แก้ความยากจน ก็เหมือนมรรควิธีทางพุทธที่เลือกทางแก้ทุกข์ นั้นแล ถ้าทุกข์หมดก็สุข แต่พอสร้างสุข มันเกิดการแย่งชิงกันขนานใหญ่"

ผมมีความรู้สึกว่าถ้าเราหันมาเน้นการแก้ทุกข์ หรือขจัดความจน มันจะทำให้สังคมให้ความช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และร่วมมือกัน เพราะที่ผ่านมาเวลาได้ข่าวว่ามีโครงการช่วยเหลือคนยากคนจนที่ไหน เราจะรู้สึกดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือ แต่ทันทีที่เราสร้างสุขหรือสร้างความร่ำรวย ส่ิงที่ตามมาคือการแก่งแย่งชิงดีกัน โกงกัน บ้างก็ถึงกับฆ่ากัน ที่พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าไม่อยากให้สังคมมีความสุขนะ แต่ไม่อยากให้เน้นการสร้างสุข เพราะสร้างไปก็ไม่มีประโยชน์ในเมือทุกข์มันยังไม่ถูกกำจัดไป...

ทวิลักษณ์ทางสังคมยังต้องมีอยู่ แต่ทำอย่างไรจะให้ความเป็นทวิลักษณ์นี้มันมีผลกระทบต่อคนในสังคมน้อยที่สุด นั่นคือ รัฐต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดสรรโอกาสและความเป็นธรรมให้สังคม ตลอดจนปรับโครงสร้างต่าง ๆ เช่น โครงสร้างกฏหมาย โครงสร้างการใช้ทรัพยากร ระบบราชการ ระบบธนาคาร ระบบการเมือง และการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ เพื่อให้สังคมโดยรวมสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างพร้อมเพรียงกันและสมดุล...

ที่บ่นมาก็ไม่รู้จะเป็นจริงได้เมื่อไหร่ แค่อยากให้คนจนน้อยลง ขอทานน้อยลงแค่นั้นเอง !


ภาพถ่ายโดย แมงดาว ใน Ok Nation Blog
ตอน ฒ.เอ๋ยผู้เฒ่าเฝ้าขอทาน...
http://www.oknation.net/blog/mangdao/2008/03/18/entry-1