วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ทวิลักษณ์ทางสังคม

ผมมีโอกาสได้เดินเล่นแถวหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้าม ระหว่างที่อยู่บนสะพานผมเห็นขอทานหลายคน บ้างก็สมบูรณ์ดี บ้างก็พิการ แต่จะอะไรก็ตาม ทุกคนล้วนกำลังเผชิญชะตากรรมอันเดียวกันคือ ลำบากยากจน ไม่มีเงิน หรืออาจถูกหลอกลวงมาก็เป็นได้

แรก ๆ ก็ไม่แปลกใจที่เห็นภาพเหล่านี้ เพราะเห็นมานานแล้ว แต่พอคิดดูอีกที คราวนี้เริ่มแปลกใจว่าทำไมภาพเหล่านี้ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยมา มิหนำซ้ำมันยังมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาเบาบางลง นั่นเป็นเพราะ ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนจนกับคนรวยมันห่างกันออกไปทุกที

เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ เมื่อเกิดการแบ่งแยกความเจริญในเขตเมืองและเขตชนบท ปัญหาที่ตามมาคือการทำงานต่ำกว่าระดับ (underemployment) ซึ่งเกิดขึ้นในเขตชนบท และปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น (unemployment) ในเขตเมือง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการกระจายรายได้และทรัพยากรการผลิตไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ตามมา กล่าวคือ ทรัพยากรและปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน แรงงาน ทุน ตลอดจนเทคโนโลยีและการศึกษาได้ถูกกระจายไปอย่างไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม ส่วนใหญ่จะถูกจัดสรรไปให้คนรวยที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่มีอำนาจซื้อ คนจนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศกลับต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีเงินทุน ไม่มีโอกาส และไม่มีอำนาจซื้อ ไม่ใช่ไม่มีอย่างเดียวแต่กำลังสูญเสียไปทุกขณะ เพราะช่องว่างของรายได้ และโอกาสกระเถิบห่างออกไปอยู่เรื่อย ๆ เหตุการณ์เช่นนี้เรียกว่าระบบเศรษฐกิจทวิลักษณะ (dualistic economy) และนำมาซึ่งรูปแบบทางสังคมที่แตกต่าง 2 ลักษณะ คือ แบบทันสมัย (modern) ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม และแบบเก่า (traditional) ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ตามสังคมเมืองไม่ค่อยทัน ด้อยโอกาสกว่า ด้อยกว่าในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งผมเรียกว่าเป็น "ทวิลักษณ์ทางสังคม"

มันทำให้ผมลองตั้งคำถามขึ้นเล่น ๆ ในใจว่า ถ้าผมมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผมจะมุ่งแก้ปัญหาความยากจนหรือมุ่งสร้างความร่ำรวยให้คนในประเทศ เพราะยุทธศาสตร์การสร้างความร่ำรวยกับยุทธศาสตร์การแก้ความยากจนนั้นแตกต่างกันอย่างมาก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวส วะสี เคยกล่าวไว้ในการประชุมเรื่อง "คนจนกับทางออกของสังคมไทย" ว่า
"ความรวยและความจนก็เหมือนกับความสุขและความทุกข์ ถึงจะเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน คือถ้าสุขมากก็ทุกข์น้อย ถ้าทุกข์มากก็สุขน้อย ก็จริง แต่ยุทธศาสตร์สร้างสุขกับยุทธศาสตร์แก้ทุกข์ มีความหมายต่างกันเยอะ พระพุทธศาสนาเลือกข้างแก้ทุกข์ แต่ฝรั่งเลือกข้างสร้างสุข หรือการพัฒนาแบบสร้างความร่ำรวย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย ยุทธศาสตร์แก้ความยากจน ก็เหมือนมรรควิธีทางพุทธที่เลือกทางแก้ทุกข์ นั้นแล ถ้าทุกข์หมดก็สุข แต่พอสร้างสุข มันเกิดการแย่งชิงกันขนานใหญ่"

ผมมีความรู้สึกว่าถ้าเราหันมาเน้นการแก้ทุกข์ หรือขจัดความจน มันจะทำให้สังคมให้ความช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และร่วมมือกัน เพราะที่ผ่านมาเวลาได้ข่าวว่ามีโครงการช่วยเหลือคนยากคนจนที่ไหน เราจะรู้สึกดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือ แต่ทันทีที่เราสร้างสุขหรือสร้างความร่ำรวย ส่ิงที่ตามมาคือการแก่งแย่งชิงดีกัน โกงกัน บ้างก็ถึงกับฆ่ากัน ที่พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าไม่อยากให้สังคมมีความสุขนะ แต่ไม่อยากให้เน้นการสร้างสุข เพราะสร้างไปก็ไม่มีประโยชน์ในเมือทุกข์มันยังไม่ถูกกำจัดไป...

ทวิลักษณ์ทางสังคมยังต้องมีอยู่ แต่ทำอย่างไรจะให้ความเป็นทวิลักษณ์นี้มันมีผลกระทบต่อคนในสังคมน้อยที่สุด นั่นคือ รัฐต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดสรรโอกาสและความเป็นธรรมให้สังคม ตลอดจนปรับโครงสร้างต่าง ๆ เช่น โครงสร้างกฏหมาย โครงสร้างการใช้ทรัพยากร ระบบราชการ ระบบธนาคาร ระบบการเมือง และการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ เพื่อให้สังคมโดยรวมสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างพร้อมเพรียงกันและสมดุล...

ที่บ่นมาก็ไม่รู้จะเป็นจริงได้เมื่อไหร่ แค่อยากให้คนจนน้อยลง ขอทานน้อยลงแค่นั้นเอง !


ภาพถ่ายโดย แมงดาว ใน Ok Nation Blog
ตอน ฒ.เอ๋ยผู้เฒ่าเฝ้าขอทาน...
http://www.oknation.net/blog/mangdao/2008/03/18/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น